ชื่อสิ่งประดิษฐ์ แผ่นหัตถการคลายตาสมุนไพร
ชื่อผู้ประดิษฐ์และคิดค้น
1.ว่าที่ร้อยตรีหญิงชลธิชา อังกาบ
ตำแหน่ง นักวิชาการสาธารณสุข(แพทย์แผนไทย)
2.นางสาวจารุวัฒน์ แย้มทับ ตำแหน่ง เจ้าพนักงานสาธารณสุขชำนาญงาน
ชื่อผู้นำเสนอ
ว่าที่ร้อยตรีหญิงชลธิชา อังกาบ ตำแหน่ง นักวิชาการสาธารณสุข(แพทย์แผนไทย)
หลักการเหตุผล
กระทรวงสาธารณสุขจัดให้มีบริการแพทย์แผนไทยฯ ในสถานบริการ เพื่อให้ประชาชนชนเข้าถึงการบริการแพทย์แผนไทยฯ (โกมาตร จึงเสถียรทรัพย์ และคณะ, 2558)รพ.สต.บ้านหัวเด่น ได้ดำเนินงานด้านการรักษา ป้องกัน ส่งเสริมและฟื้นฟูสุขภาพด้วยการแพทย์แผนไทยฯ เพื่อให้ประชาชนได้รับบริการอย่างมีคุณภาพมาตรฐาน ในปี พ.ศ.2559 แพทย์แผนไทยได้อบรมเชิงปฏิบัติการพัฒนาศักยภาพความรู้ด้านเวชปฏิบัติแผนไทย ประจำปี 2559 ในวันที่ 11 – 13 มีนาคม 2559 โดยอาจารย์คมสัน ทินกร ณ อยุธยา ผู้สืบทอดองค์ความรู้จากบรรพบุรุษ มีประสบการณ์ด้านการแพทย์แผนไทยเป็นระยะเวลาหลายปี และเป็นที่ยอมรับในการแพทย์แผนไทยและแพทย์ทางเลือกเป็นอย่างมาก จากการอบรมครั้งนี้ได้นำหัตถการพอกตาด้วยสมุนไพร ร่วมกับงานบริการสุขภาพต่างๆ ซึ่งพบปัญหาในการดำเนินงาน และมีการแก้ไขปัญหาอย่างต่อเนื่อง ปี พ.ศ.2560 มีการคัดกรองสุขภาพผู้สูงอายุ ปี 2560 ซึ่งทางแพทย์แผนไทยผู้สูงอายุอยู่ในช่วงปัจฉิมวัย (อายุ 32 ปีขึ้นไป) เกิดโรคทางธาตุลม มีลมในร่างกายมากกว่าช่วงอายุอื่นๆ ผู้สูงอายุทั้งหมด จำนวน 463 คน ติดสังคม เพศชาย จำนวน 182 คน เพศหญิง จำนวน 250 คน ผู้สูงอายุติดบ้าน เพศชาย จำนวน 5 คน เพศหญิง จำนวน 16 คน ผู้สูงอายุติดเตียง เพศชาย จำนวน 5 คน เพศหญิง จำนวน 5 คน พบปัญหาสภาวะทางตาเป็นอันดับที่ 2 จำนวน 176 คน คิดเป็นร้อยละ 38 จากปัญหาข้างต้นส่งผลกระทบต่อคุณภาพชีวิตของผู้สูงอายุ ในการปฏิบัติกิจวัตรประจำวัน ดังนั้นเจ้าหน้าที่ รพ.สต.บ้านหัวเด่น ได้มีการปรึกษา หารือ ร่วมกัน เกี่ยวกับการดูแลปัญหาสภาวะทางตาในผู้สูงอายุ จึงมีการนำหัตถการพอกตา มาร่วมในงานบริการสุขภาพผู้สูงอายุ โดยนำแผ่นหัตถการคลายตาสมุนไพร มาดูแลซึ่งจะช่วยลดอาการตาฝ้าตาฟาง คันตา และระคายเคืองดวงตา โดยนำสมุนไพรที่มีในท้องถิ่นมาใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุด ซึ่งมีส่วนผสมของสมุนไพรฤทธิ์เย็น ได้แก่ ผงสมุนไพรฟ้าทะลายโจร และไข่ขาวในไข่เป็ด ซึ่งเป็นแนวทางในการดูแลผู้สูงอายุที่มีอาการโดยพึ่งตนเองได้ ที่สำคัญประชาชนทั่วไปสามารถนำไปทำประยุกต์ใช้ได้
วัตถุประสงค์
1.เพื่อศึกษาประสิทธิผลของสมุนไพรพอกตา
2.เพื่อนำสมุนไพรที่มีในท้องถิ่นมาใช้ในการดูแลสภาวะทางตาผู้สูงอายุ
เป้าหมาย
ผู้สูงอายุที่มีอาการตาฝ้าตาฟาง คันตา และระคายเคืองดวงตา จำนวน 30 คน
ขั้นตอนการดำเนินงาน
1.สำรวจ/ค้นหาผู้สูงอายุที่มีอาการตาฝ้าตาฟาง คันตา และระคายเคืองดวงตา
2.วางแผนการดำเนินงานและแบ่งหน้าที่หน้ารับผิดชอบร่วมกับทีมสหวิชาชีพ
3.ศึกษาทฤษฎีแผนปัจจุบันและแผนไทย รวมทั้งสมุนไพรที่นำมาใช้
4.สร้างแบบสัมภาษณ์ “แผ่นหัตถการคลายตาสมุนไพร”
5.สร้างแผ่นพอกตาด้วยสมุนไพร
6.ชี้แจงผู้สูงอายุเกี่ยวกับที่มา ประโยชน์ ขั้นตอน และข้อจำกัดของการทำหัตถการ
7.คัดเลือกผู้เข้าร่วมโครงการ
8.ประเมินอาการผู้สูงอายุโดยแบบสัมภาษณ์ ก่อนพอกแผ่นหัตถการคลายตาสมุนไพร โดยใช้เครื่องมือ Pain scale เป็นตัววัดระดับของอาการ
9.ดำเนินการพอกแผ่นหัตถการคลายตาสมุนไพร สัปดาห์ละ 2 ครั้ง เป็นระยะเวลา 1 เดือน
10.ประเมินอาการผู้สูงอายุโดยแบบสัมภาษณ์ หลังพอกแผ่นหัตถการคลายตาสมุนไพร โดยใช้เครื่องมือ Pain scale เป็นตัววัดระดับของอาการ
11.บันทึกผลการรักษาทุกครั้ง และสรุปผลการดำเนินงาน
ขั้นตอนการเตรียม “แผ่นหัตถการคลายตา”
1.นำผงสมุนไพรฟ้าทะลายโจร จำนวน 2 ช้อนชา ต่อ ไข่ขาวของไข่เป็ด จำนวน 9 มิลลิลิตร คนให้เข้ากัน
2.คลายผ้าก็อส ขนาด 3 x 3 นิ้ว 1 ชิ้น เป็นแนวยาว และนำตัวยามาวางบนผ้าก๊อส 2 ข้าง แล้วปิดผ้าก๊อสทับตัวยา
3.ทำสติกเกอร์บอกสรรพคุณ วิธีการใช้ และการเก็บรักษา
4.บรรจุแผ่นพอกตา ลงในซองยา ขนาด 10 x 15 เซนติเมตร
5.ติดสติกเกอร์บนซองแผ่นหัตถการคลายตา
6.เก็บรักษาไว้ในตู้เย็น ใช้ได้ 1 สัปดาห์ และ 1 แผ่น : 1 ครั้ง
วิธีการนำไปใช้ “แผ่นหัตถการคลายตาสมุนไพร”
1.ให้ผู้สูงอายุหลับตานำแผ่นหัตถการคลายตา วางบนเปลือกตาทั้ง 2 ข้าง
2.พอกช่วงเวลา 10.00น. - 13.00น. เพราะเป็นช่วงเวลาของธาตุไฟกระทำโทษ ทิ้งไว้ประมาณ 15 - 20 นาที
3.ลอกแผ่นหัตถการคลายตาสมุนไพรออก แล้วใช้สำลีชุบน้ำพอหมาดๆ เช็ดทำความสะอาด
ผลการดำเนินงาน/ประโยชน์ที่ได้รับ
จากการดำเนินงานการดูแลผู้สูงอายุที่มีอาการตาฝ้าตาฟาง คันตา และระคายเคืองดวงตา จำนวน 30 คน เป็นเวลา 1 เดือน โดยใช้เครื่องมือ Pain scale เป็นตัววัดระดับการเปลี่ยนแปลงของอาการก่อนและหลังพอกแผ่นหัตถการคลายตาสมุนไพร พบว่าผู้สูงอายุมีอาการคันตา ระคายเคืองดวงตา ทุเลาลงร้อยละ100 และอาการตาฝ้าตาฟาง ร้อยละ 80 ส่วนอีก 6 คน มีอาการลดลงเพียงเล็กน้อยหลังพอกไป 2 - 3 วัน มีอาการตาฝ้าตาฟางเหมือนเดิม ไม่มีความแตกต่างระหว่างการดูแล และผู้สูงอายุมีความคิดเห็นที่ดีเกี่ยวกับแผ่นหัตถการคลายตา ร้อยละ 100
ปัจจัยความสำเร็จ: ในการทำ “แผ่นหัตถการคลายตา” รพ.สต.บ้านหัวเด่น มีดังนี้
1.มีการค้นพบปัญหาที่แท้จริง และมีการปรึกษาหารือ สะท้อนคิด ร่วมกัน เพื่อหาแนวทางการแก้ไขปัญหาที่ตรงประเด็น
2.มีการนำองค์ความรู้ด้านการแพทย์แผนไทยร่วมกับงานบริการสุขภาพ
3.มีการทำงานร่วมกันเป็นทีม มีน้ำใจ เสียสละ นึกถึงประโยชน์ของประชาชนเป็นที่ตั้ง
4.มีการวิเคราะห์การดำเนินงานอย่างต่อเนื่อง เพื่อนำไปสู่การพัฒนา โดยมีการพัฒนาหัตถการพอกตาด้วยสมุนไพรให้สะดวกและปลอดภัยต่อผู้รับบริการ
ประโยชน์ของการนำไปใช้
แผ่นหัตถการคลายตาสมุนไพร สามารถบรรเทาอาการอาการตาฝ้าตาฟาง คันตา และระคายเคืองดวงตาได้ นอกจากนี้พบว่าผู้สูงอายุมีสายตาที่สู้แดดได้ อ่านหนังสือตอนกลางคืนได้โดยไม่ต้องใส่แว่น สามารถร้อยเข็มได้ และผู้สนใจสามารถนำแผ่นหัตถการคลายตาไปใช้ในการดูแลได้อีกด้วย รวมถึงเป็นแนวทางการดำเนินงานการดูแลสภาวะทางตาต่อไป
สรุป
จากการศึกษาครั้งนี้เป็นการนำแผ่นหัตถการคลายตาสมุนไพร มาดูแลผู้สูงอายุที่มีอาการตาฝ้าตาฟาง คันตา และระคายเคืองดวงตา โดยนำ สมุนไพรฤทธิ์เย็น ได้แก่ ผงสมุนไพรฟ้าทะลายโจร และไข่ขาวในไข่เป็ด จากการศึกษาโดยใช้เครื่องมือ Pain scale เป็นตัววัดระดับการเปลี่ยนแปลงของอาการก่อนและหลังพอกแผ่นหัตถการคลายตาสมุนไพร พบว่าผู้สูงอายุมีอาการคันตา ระคายเคืองดวงตา ทุเลาลงร้อยละ100 และอาการตาฝ้าตาฟาง ร้อยละ 80 ส่วนอีก 6 คน มีอาการลดลงเพียงเล็กน้อยหลังพอกไป 2 - 3 วัน มีอาการตาฝ้าตาฟางเหมือนเดิม ไม่มีความแตกต่างระหว่างการดูแล และผู้สูงอายุมีความคิดเห็นที่ดีเกี่ยวกับแผ่นหัตถการคลายตา ร้อยละ 100 รวมถึงแผ่นหัตถการคลายตาสมุนไพรให้ความสะดวก ปลอดภัยต่อผู้รับบริการ และสามารถเป็นแนวทางการดำเนินงานที่ชัดเจนต่อไปได้
ข้อเสนอแนะ
1.คณะทำงานต้องนำปัญหาที่พบมาแก้ไขปัญหาอย่างแท้จริง และมีการปรึกษาหารือ สะท้อนคิด ร่วมกัน เพื่อการแก้ไขปัญหาที่ตรงประเด็น และนำไปสู่การพัฒนาอย่างแท้จริง
2.มีการทบทวน ปัญหาอย่างต่อเนื่อง
3.การศึกษาควรใช้เครื่องมือ Pain scale เป็นตัววัดระดับการเปลี่ยนแปลงของอาการก่อนและหลังพอกแผ่นหัตถการคลายตาสมุนไพรทุกครั้ง และมีการติดตามประเมินผลการรักษาอย่างต่อเนื่อง
4.ควรพอกแผ่นหัตถการคลายตาสมุนไพรสม่ำเสมอ เพื่อการรักษาที่มีประสิทธิภาพ
5.ต้องมีผู้ดูแล สังเกตอาการ ขณะพอกแผ่นหัตถการคลายตาสมุนไพรทุกครั้ง
ข้อควรระวัง
1.ผู้ที่มีประวัติแพ้สมุนไพรฟ้าทะลายโจรและแพ้ไข่ขาว
2.ผู้ที่ผ่านการผ่าตัดต้อเนื้อ ต้อกระจก ไม่ต่ำกว่า 1 ปี
3.มีอาการวิงเวียนเป็นประจำ
4.ผู้ที่มีภาวะความดันโลหิตต่ำ
5.ต้องรับประทานอาหารก่อนทำหัตถการ
เอกสารอ้างอิง
โกมาตร จึงเสถียรทรัพย์ และคณะ (2559). นโยบายการพัฒนาการแพทย์แผนไทย การแพทย์พื้นบ้านและการแพทย์ทางเลือกในการเข้าสู่ประชาคมอาเซียน.สถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข, กระทรวงสาธารณสุข.
อาจารย์กฤษดา ศรีหมตรี (2558). การศึกษาการใช้รสยาเป็นเครื่องบ่งชี้สรรพคุณยาของหมอยาไทย วิทยานิพนธ์หลักสูตรการแพทย์แผนไทยมหาบัณฑิต สาขาวิชาการแพทย์แผนไทย มหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงราย
ที่มา:https://www.ldm.in.th/cases/4415
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น