มหัศจรรย์สมุนไพรรักษาโรคกับฟ้าทะลายโจร
ฟ้าทะลายโจรชอบอากาศร้อนชื้น พบมากในจีน อินเดีย ไทย มักขึ้นเองตามป่า เป็นพืชที่ปลูกง่าย ไม่เลือกดิน แต่โตดีในดินร่วนซุย ระบายน้ำดี ชอบแดดปานกลาง ถ้าอยู่ในที่ร่มทึบเกินไปจะทำให้โตช้า ถ้าโดนแดดจัดเกินไปจะทำให้ใบเล็กและเป็นสีม่วง
ชื่อวิทยาศาสตร์: Andrographis paniculata (Burm.f.) Nees
(วงศ์ Acanthaceae)
ชื่ออื่น: ฟ้าทะลาย
หญ้ากันงู น้ำลายพังพอน เมฆทะลาย ฟ้าสะท้าน
ลักษณะพืช:
ฟ้าทะลายโจร เป็นพืชล้มลุก
สูงประมาณ 30-60
ซม. ลำต้นตั้งตรงกิ่งก้านเป็นสันสี่เหลี่ยม ใบเดี่ยว เรียงตรงข้าม
รูปใบหอก กว้าง 1-2.5 ซม. ยาว 4-10 ซม.
โคนใบและปลายใบแหลม ขอบใบเรียบหรือเป็นคลื่นเล็กน้อย เนื้อใบสีเขียวเข้ม เป็นมัน
ก้านใบยาว 2-8 มม. ดอกออกเป็นช่อใหญ่ที่ปลายกิ่งและซอกใบ
ช่อโปร่งยาว 5-30 ซม. ดอกย่อยขนาดเล็ก ดอกสีขาวแกมม่วง มีขน
กลีบเลี้ยงโคนติดกัน ผลเป็นฝัก รูปทรงกระบอก สีเขียวอมน้ำตาล ปลายแหลม
เมื่อผลแก่จะแตกดีดเมล็ดออกมา มีเมล็ด 8-14 เมล็ด ขนาดเล็ก
สีน้ำตาลแดง ใช้เมล็ดขยายพันธุ์ เนื่องจากเมล็ดฟ้าทะลายโจรมีเปลือกหุ้มหนาและแข็ง
ซึ่งเป็นอุปสรรคต่อการงอก นอกจากนี้เมล็ดยังมีการพักตัว
จึงควรแก้การพักตัวของเมล็ดก่อนนำไปเพาะหรือก่อนการปลูก
- ต้นฟ้าทะลายโจร จัดเป็นพืชล้มลุกที่มีความสูงประมาณ 30-70 เซนติเมตร หรือประมาณ 1-2 ศอก ลำต้นเป็นสี่เหลี่ยม แตกกิ่งมาก ทุกส่วนของต้นมีรสขม กิ่งเป็นใบสีเหลี่ยม สามารถพบได้ทั่วไปในประเทศไทย ลาว กัมพูชา มาเลเซีย อินโดนีเซีย เวียดนาม จีน และหมู่เกาะในทะเลแคริบเบียน
- ใบฟ้าทะลายโจร ลักษณะเป็นใบเดี่ยว แผ่นใบสีเขียวเข้มเป็นมัน ลักษณะของใบรียาว ปลายใบแหลม
- ดอกฟ้าทะลายโจร ออกดอกเป็นช่อที่ปลายกิ่งและตามซอกใบ ดอกมีขนาดเล็กสีขาว มีดอกย่อย กลีบดอกมีสีขาวโคนกลีบติดกัน ปลายแยกเป็น 2 ปาก ปากบนมี 3 กลีบ (มีเส้นสีม่วงแดงพาดอยู่) ส่วนปากล่างมี 2 กลีบ
- ผลฟ้าทะลายโจร ลักษณะเป็นฝัก ฝักจะคล้ายกับฝักต้อยติ่ง (หรือเป๊าะแป๊ะ) ฝักอ่อนมีสีเขียว เมื่อแก่ฝักจะเป็นสีน้ำตาลและแตกได้ ภายในฝักมีเมล็ดสีน้ำตาลอ่อนจำนวนมาก
แหล่งกระจายพันธุ์ :ฟ้าทะลายโจรมีเขตการกระจายพันธุ์
และเขตการเพาะปลูกได้ดีในภูมิภาคที่มีอากาศร้อน หรือร้อนชื้น
การเพาะปลูก :เป็นพืชที่ชอบอากาศร้อนชื้น
สามารถปลูกได้ทุกฤดูกาล แต่ฤดูที่เหมาะสมคือ ช่วงต้นฤดูฝน
ชอบดินร่วนซุยที่มีการระบายน้ำดี เจริญเติบโตได้ทั้งในสภาพที่ร่มและกลางแจ้ง
ถ้าปลูกในพื้นที่กลางแจ้งจะมีลำต้นเตี้ยและใบหนา
ส่วนในที่ร่มลำต้นจะสูงใบใหญ่แต่บาง พื้นที่ปลูกจึงควรเป็นที่โล่งแจ้ง หรือมีแสงรำไรและมีน้ำอุดมสมบูรณ์
ส่วนที่ใช้ประโยชน์: ส่วนเหนือดิน
(ทั้งต้น)
สารสำคัญ
สารสำคัญในการออกฤทธิ์ คือ
สารกลุ่ม Lactone
เช่น สารแอนโดรกราโฟไลด์ (Andrographolide) นีโอแอนโดรกราโฟไลด์
(Neoandrographolide) ดิออกซีแอนโดรกราโฟไลด์ (14-Deoxyandrographolide)
และดิออกซีไดดีไฮโดรแอนโดรกราโฟไลด์ (14-Deoxy-11,12-didehydroandrographolide)
เป็นต้น ซึ่งมีสูตรโครงสร้างทางเคมี ดังรูปที่ 1
รูปที่ 1 สูตรโครงสร้างของสารสำคัญที่พบในสมุนไพรฟ้าทะลายโจร
งานวิจัยสมุนไพรฟ้าทะลายโจรของสถาบันวิจัยจุฬาภรณ์
1. การศึกษาด้านพฤกษเคมี
ในระยะแรกการศึกษาทางเคมีของฟ้าทะลายโจร
คือ ทำการวิเคราะห์หาปริมาณแลคโตนรวม ซึ่งทำได้โดย
นำผงสมุนไพรบดละเอียดมาทำการสกัดด้วยเอธานอล (reflux) จากนั้นนำสารละลายไปทำปฏิกิริยากับสารเคมีต่างๆหลายขั้นตอน
และขั้นสุดท้ายไตเตรทกับสารละลายกรดไฮโดรคลอริก ตามข้อกำหนดของ Thai Herbal
Pharmacopoeia I จะกำหนดให้วัตถุดิบส่วนเหนือดินของฟ้าทะลายโจร
มีปริมาณ Total lactone ไม่น้อยกว่า 6% โดยคำนวณเป็น andrographolide
ต่อมาสถาบันวิจัยจุฬาภรณ์ได้ทำการพัฒนาวิธีการตรวจวิเคราะห์ปริมาณของสารสำคัญชนิดต่างๆในฟ้าทะลายโจร
โดยการใช้เทคนิค High
Performance Liquid Chromatography (HPLC) ซึ่งตอนเริ่มต้นสามารถทำการวิเคราะห์ปริมาณสารสำคัญในฟ้าทะลายโจรได้
3 ชนิด ได้แก่ สารแอนโดรกราโฟไลด์ (Andrographolide-AP1),
ดิออกซีไดดีไฮโดรแอนโดรกราโฟไลด์ (14-Deoxy-11,12-didehydroandrographolide-AP3)
และนีโอแอนโดรกราโฟไลด์ (Neoandrographolide-AP4)
โดยใช้เมทธานอลเป็นตัวทำละลาย
ซึ่งวิธีวิเคราะห์นี้ได้ตีพิมพ์ในวารสารต่างประเทศชื่อ Phytochemical
Analysis ในปี 2004 โดย Pholphana et
al.13 ซึ่งการวิธีวิเคราะห์นี้เป็นวิธีที่ง่ายและสามารถทำการวิเคราะห์ปริมาณสารสำคัญทั้ง
3 ชนิดนี้ได้จากการฉีดสารตัวอย่างสมุนไพรครั้งเดียว
และได้ทำการจดอนุสิทธิบัตรวิธีการเตรียมสารสกัดและวิธีการวิเคราะห์แล้ว
(อนุสิทธิบัตรเลขที่ 1862 เมื่อวันที่ 28 มิถุนายน 2548)14 แต่ปัญหาอีกอย่างของการวิเคราะห์สมุนไพรก็คือ
การขาดแคลนสารมาตรฐานที่จะใช้ในการวิเคราะห์ ซึ่งมีราคาแพง และบางชนิดไม่มีจำหน่าย
สถาบันวิจัยจุฬาภรณ์จึงได้ทำการสกัดและแยกสารบริสุทธิ์ทั้ง 3 ชนิดนี้จากฟ้าทะลายโจรขึ้นเอง โดย ศ.ดร.สมศักดิ์ รุจิรวัฒน์
และคณะนักวิจัยของห้องปฏิบัติการเภสัชเคมี ทำให้ได้สารที่มีความบริสุทธิ์มากกว่า 95%
และสารบริสุทธิ์ทั้ง 3 ชนิด
ได้ถูกนำมาใช้เป็นสารมาตรฐานในการควบคุณคุณภาพตัวอย่างสมุนไพรฟ้าทะลายโจรและสารสกัดฟ้าทะลายโจรก่อนนำไปทดสอบฤทธิ์ทางเภสัชวิทยาต่อไป
แต่ต่อมาทางสถาบันฯสามารถที่จะแยกสารบริสุทธิ์จากฟ้าทะลายโจรได้อีก 1 ชนิด คือ สารดิออกซีแอนโดรกราโฟไลด์ (14-Deoxyandrographolide-AP6)
ซึ่งเป็นสารสำคัญอีกชนิดหนึ่งในฟ้าทะลายโจร
และได้พัฒนาวิธีการวิเคราะห์เพิ่มเติมจากเดิมเพื่อให้สามารถแยกสารสำคัญทั้ง 4
ชนิด ซึ่งมีประสิทธิภาพดีและรวดเร็วยิ่งขึ้น
รูปแบบสารสำคัญในตัวอย่างสมุนไพรฟ้าทะลายโจร ดังแสดงในรูปที่ 2 วิธีการตรวจวิเคราะห์นี้ได้ถูกตีพิมพ์เผยแพร่เมื่อ ปี 2013 ในวารสาร Chinese Medicine15
รูปที่ 2 รูปแบบสารสำคัญในสมุนไพรฟ้าทะลายโจรอาศัยการตรวจวัด โดยใช้เทคนิค HPLC
2. การศึกษาด้านเภสัชวิทยาและพิษวิทยา
สถาบันวิจัยจุฬาภรณ์ได้ทำการศึกษาวิจัยฤทธิ์ทางเภสัชวิทยาของสมุนไพรฟ้าทะลายโจรเพื่อใช้ในการรักษาโรคต่างๆ
โดยสารสกัดฟ้าทะลายโจรที่นำมาทดสอบนั้น
จะต้องมีการตรวจวิเคราะห์ปริมาณสารสำคัญในสารสกัดก่อนทุกครั้ง
เพื่อให้ทราบปริมาณสารสำคัญที่ออกฤทธิ์ที่แน่นอน สารสกัดที่นำมาใช้ส่วนใหญ่จะเป็นสารสกัดน้ำที่ทำเป็นผงแห้งแล้ว
โดยใช้เครื่องทำให้เป็นผงแห้งโดยใช้ความร้อน (Spray Dryer)
2.1 ฤทธิ์ในการต้านอนุมูลอิสระ
สถาบันฯได้ทำการทดสอบฤทธิ์ในการต้านอนุมูลอิสระของสารสกัดน้ำฟ้าทะลายโจรด้วยวิธี
DPPH
assay พบว่าสารสกัดฟ้าทะลายโจรมีฤทธิ์ในการต้านอนุมูลอิสระได้ในระดับปานกลาง
โดยมีค่า SC50 (ค่าที่กำจัดอนุมูลอิสระได้ 50%)
เท่ากับ 75-78 ไมโครกรัมต่อมิลลิลิตร
2.2 ฤทธิ์ในการยับยั้งเชื้อแบคทีเรีย
ทำการศึกษาฤทธิ์ในการยับยั้งเชื้อแบคทีเรีย Staphyloccus
aureus ATCC 25923 ของสารสกัดน้ำฟ้าทะลายโจร โดยใช้วิธี Broth
Macrodilution Method ผลการทดลอง พบว่า ค่า MIC (Minimum
Inhibition Concentration-ค่าความเข้มข้นต่ำสุดที่สามารถยับยั้งเชื้อได้)
เท่ากับ 32 มิลลิกรัมต่อมิลลิลิตร
2.3 ฤทธิ์ในการยับยั้งเชื้อมาลาเรียในหลอดทดลอง
ศึกษาฤทธิ์ในการยับยั้งเชื้อมาลาเรีย Plasmodium
falciparum (94) ในหลอดทดลองของสารสกัดน้ำฟ้าทะลายโจร
ผลการทดลอง พบว่า มีค่า IC50 (Inhibition Concentration–ค่าความเข้มข้นของสารสกัดที่สามารถยับยั้งเชื้อได้ 50%) เท่ากับ 418.25 ไมโครกรัมต่อมิลลิลิตร ซึ่งตามเกณฑ์ของห้องปฏิบัติการฯ
ถือว่าอยู่ในเกณฑ์พอใช้ได้ และสารบริสุทธิ์ AP1 (Andrographolide)
และ AP3 (14-Deoxy-11,12-didehydroandrographolide)
ให้ผลดีกว่า AP4(Neoandrographolide)
2.4 ฤทธิ์ในการต้านการเกาะตัวของเกล็ดเลือด
ในการศึกษาวิจัยนี้ได้ทำการทดสอบฤทธิ์ของสารบริสุทธิ์ทั้ง
3
ชนิด
ที่มีอยู่ในฟ้าทะลายโจรและสารสกัดน้ำของฟ้าทะลายโจรในการต้านการเกาะตัวของเกล็ดเลือดที่ถูกกระตุ้นด้วย
Thrombin ในหลอดทดลอง ผลการทดลองพบว่า 14-deoxy-11,12-didehydroandrographolide
(AP3) มีฤทธิ์ยับยั้งการเกาะตัวของเกล็ดเลือดได้ดีกว่า andrographolide
(AP1) ในขณะที่ neoandrographolide (AP4)
ไม่มีผล
นอกจากนี้สารสกัดน้ำของฟ้าทะลายโจรก็มีฤทธิ์ในการยับยั้งการเกาะตัวของเกล็ดเลือดได้ดีด้วยเช่นกัน
ซึ่งผลงานวิจัยนี้ได้รับการตีพิมพ์ในวารสารต่างประเทศชื่อ European Journal
of Pharmacology ในปี 2549 โดย Thisoda et
al.7
2.5 ผลต่อระบบหัวใจและหลอดเลือด
เนื่องจากมีรายงานว่า สาร 14-deoxy-11,12-didehydroandrographolide
(AP3) มีฤทธิ์ในการลดความดันเลือดได้ดี
ดังนั้นทางสถาบันฯจึงได้ทำการศึกษาว่าสารบริสุทธิ์ทั้ง 3 ชนิด
รวมทั้งสารสกัดฟ้าทะลายโจรจะมีฤทธิ์ต่อหลอดเลือดและหัวใจในสัตว์ทดลองแตกต่างกันหรือไม่
จากผลการทดลอง พบว่า 14-deoxy-11,12-didehydroandrographolide (AP3)
มีฤทธิ์ในการขยายหลอดเลือดและลดอัตราการเต้นของหัวใจได้ดีที่สุด
นอกจากนี้ยังพบว่า สารสกัดฟ้าทะลายโจรที่มีสาร AP3 สูงจะมีฤทธิ์ในการลดความดันเลือดได้ดีกว่าสารสกัดฟ้าทะลายโจรที่มี AP3ต่ำกว่า จากผลการทดลองนี้บ่งชี้เตือนได้ว่า
ผู้บริโภคที่ได้รับฟ้าทะลายโจรที่มีปริมาณสารสำคัญ AP3 สูง อาจทำให้เกิดอาการของความดันเลือดต่ำได้
จึงควรระมัดระวังในการใช้ฟ้าทะลายโจรด้วย
ผลการวิจัยนี้ได้รับการตีพิมพ์ในวารสารต่างประเทศชื่อ Planta Medica ในปี 2550 โดย Yoopan et al.6
2.6 ฤทธิ์ในการฆ่าเซลล์มะเร็งในหลอดทดลอง
สถาบันฯได้ทำการศึกษาฤทธิ์ในการต้านการเติบโตของเซลล์มะเร็งสมอง
SK-N-SH
ของสารบริสุทธิ์ที่แยกได้จากสมุนไพรฟ้าทะลายโจร ได้แก่ AP1,
AP3 และ AP4 ในหลอดทดลอง
ซึ่งผลการทดลองพบว่า สารบริสุทธิ์ทั้ง 3 ชนิดนี้
มีฤทธิ์ในการต้านการเจริญของเซลล์มะเร็งสมองได้ โดยมีฤทธิ์เรียงจากมากไปน้อย คือ AP1,
AP3AP4 จากนั้นได้ทำการศึกษากลไกระดับโมเลกุลของสารทั้ง
3 ชนิดนี้ในการต้านการเจริญของเซลล์มะเร็ง พบว่า
สารนี้ไปยับยั้งวงจรชีวิตของเซลล์ที่ระยะ G1/S phase และกระตุ้นให้เซลล์ตายด้วยขบวนการอะพรอพโธสีส
(Apoptosis) ซึ่งงานวิจัยนี้ได้รับการเผยแพร่ในงานประชุม The
5th Princess Chulabhorn International Science Congress:
Evolving Genetics and Its Global Impact ที่จัดขึ้น เมื่อวันที่ 16-20
สิงหาคม 2547 (Thiantanawat et al.)16
ส่วนการศึกษาความเป็นพิษกึ่งเรื้อรังของผงฟ้าทะลายโจรในหนูขาว
2
เพศ17 เป็นระยะเวลา 6 เดือน โดยให้ยาในขนาด 0.12, 1.2 และ 2.4 กรัมต่อน้ำหนักหนู 1 กิโลกรัม (เทียบเท่ากับ 1,
10 และ 20 เท่าของขนาดที่ใช้รักษาในคน –
6 กรัมต่อวัน) พบว่า หนูทุกกลุ่มมีการเจริญเติบโตปกติ
ไม่พบความผิดปกติทางโลหิตวิทยาหรือชีวเคมีของเลือด
รวมทั้งลักษณะภายนอกหรือน้ำหนักของอวัยวะภายใน จุลพยาธิสภาพของอวัยวะภายในบางอวัยวะ
ผลการทดลองสรุปได้ว่าสมุนไพรฟ้าทะลายโจรในขนาดที่ใช้รักษาในคนนั้น
มีความปลอดภัยสูง
การควบคุมคุณภาพสมุนไพรฟ้าทะลายโจรและผลิตภัณฑ์
การออกฤทธิ์ของสมุนไพรฟ้าทะลายโจรขึ้นอยู่กับปริมาณของสารสำคัญในฟ้าทะลายโจร
ซึ่งสารสำคัญเหล่านี้จะเปลี่ยนแปลงได้ตามฤดูกาลที่เพาะปลูก แหล่งที่ปลูก
และระยะเวลาเก็บเกี่ยว ตลอดจนระยะเวลาการเก็บรักษาหลังการเก็บเกี่ยว
สิ่งเหล่านี้ล้วนเป็นสาเหตุของความแปรปรวนของสารสำคัญในฟ้าทะลายโจร
ทำให้ฟ้าทะลายโจรที่นำมาใช้นั้น รักษาโรคได้ผลการรักษาที่แตกต่างกัน ดังนั้นเพื่อให้ผลิตภัณฑ์ฟ้าทะลายโจรนี้
สามารถนำมาใช้ในการรักษาโรคได้ดีในทุกๆครั้งที่นำมาใช้
มีประสิทธิภาพในการรักษาสม่ำเสมอ จึงจำเป็นต้องมีการควบคุมคุณภาพของผลิตภัณฑ์
โดยการตรวจวิเคราะห์ปริมาณสารสำคัญแต่ละชนิดในวัตถุดิบที่จะนำมาใช้เตรียมผลิตภัณฑ์ฟ้าทะลายโจรทุกครั้ง
สถาบันฯได้ทำการสุ่มตัวอย่างผลิตภัณฑ์ฟ้าทะลายโจรที่จำหน่ายในท้องตลาดมาทำการตรวจวิเคราะห์ปริมาณสารสำคัญ
3
ชนิด พบว่า
ผลิตภัณฑ์ฟ้าทะลายโจรนี้มีความแปรปรวนของปริมาณสารสำคัญทั้ง 3 ชนิดในผลิตภัณฑ์มาก (รูปที่ 3) แต่ทุกผลิตภัณฑ์ฟ้าทะลายโจรจะมีสาร
andrographolide (AP1) สูงที่สุด รองลงมา คือ 14-deoxy-11,12-didehydroandrographolide
(AP3) ในขณะที่มีสาร neoandrographolide (AP4)
ต่ำที่สุด และใบก็จะมีสารสำคัญสูงกว่าในก้าน จากรูปที่ 3 จะเห็นได้ว่า ผลิตภัณฑ์ฟ้าทะลายโจรบางตัวอย่าง จะมีปริมาณสาร AP3 สูงมาก เช่น ตัวอย่างที่ 01, 08, 13 และ 15 เป็นต้น ซึ่งเมื่อผู้บริโภคใช้ผลิตภัณฑ์เหล่านี้ในการลดไข้ แก้เจ็บคอ
ก็อาจจะมีผลข้างเคียง คือ มีความดันเลือดต่ำลง ทำให้เกิดอาการหน้ามืด วิงเวียนได้
รูปที่ 3 ความแปรปรวนของปริมาณสารสำคัญ 3 ชนิด ในผลิตภัณฑ์สมุนไพรฟ้าทะลายโจรที่มีขายในท้องตลาด
นอกจากนี้ทางสถาบันฯยังได้ทำการศึกษาความคงตัวของสารสำคัญทั้ง
3
ชนิดนี้ในผงสมุนไพรที่เก็บรักษาไว้ที่อุณหภูมิห้อง13 พบว่า สาร andrographolide (AP1) ค่อนข้างคงที่ตลอดระยะเวลา
2 ปีที่เก็บรักษา ในขณะที่สาร 14-deoxy-11,12-didehydroandrographolide
(AP3) เพิ่มขึ้นตามระยะเวลาที่เก็บรักษา และสาร neoandrographolide
(AP4) เปลี่ยนแปลงขึ้นๆลงๆ
ซึ่งถ้าดูจากผลของการเปลี่ยนแปลงสารแลคโตนรวม จะพบว่า มีการเปลี่ยนแปลงของสารแลคโตนรวมน้อยมาก
จึงไม่สามารถบอกได้ว่า ผลิตภัณฑ์ฟ้าทะลายโจรที่ใช้อยู่นี้
จะยังมีฤทธิ์ทางเภสัชวิทยาเหมือนเดิมหรือไม่
ซึ่งถ้าเป็นผลิตภัณฑ์ฟ้าทะลายโจรที่มีสาร AP3สูงขึ้น
ก็อาจจะรักษาโรคที่สาร AP3 มีฤทธิ์ที่ดีที่สุด
เช่น ช่วยลดความดันเลือด เป็นต้น แต่ถ้าต้องการใช้ฟ้าทะลายโจรสำหรับลดไข้
แก้เจ็บคอเท่านั้น การนำผลิตภัณฑ์ที่ผลิตไว้นานแล้วมาใช้ ก็อาจทำให้ได้รับสาร AP3 สูงตามไปด้วย
ซึ่งสามารถทำให้เกิดอาการข้างเคียงเกี่ยวกับการลดลงของความดันเลือดที่ไม่พึงประสงค์ได้
จากข้อมูลนี้จะเห็นได้ว่า
สารสำคัญในฟ้าทะลายโจรทั้ง 4 ชนิดนี้
มีฤทธิ์ทางเภสัชวิทยาที่แตกต่างกัน
และยังมีการเปลี่ยนแปลงของสารระหว่างการเก็บรักษาเกิดขึ้นได้ด้วย
ดังนั้นวิธีการควบคุมคุณภาพและมาตรฐานของสมุนไพรนี้
จึงจำเป็นจะต้องเป็นวิธีที่สามารถวิเคราะห์ปริมาณสารทั้ง 4 ชนิดได้
เพื่อให้ได้ประสิทธิภาพในการรักษาที่ดีและมีความปลอดภัยสูง
ข้อบ่งใช้ในปัจจุบันและอนาคต
ปัจจุบันในบัญชียาจากสมุนไพร
ปี 2549
ได้แบ่งยาจากสมุนไพรเป็น 2 ชนิด ได้แก่
บัญชียาจากสมุนไพรที่มีการใช้ตามองค์ความรู้เดิม เช่น ยาหอมนวโกฐ ยาประสะมะแว้ง
ยาถ่ายดีเกลือฝรั่ง เป็นต้น ส่วนชนิดที่ 2 คือ บัญชียาพัฒนาจากสมุนไพร
ได้แก่ ขมิ้นชัน ขิง ชุมเห็ดเทศ ฟ้าทะลายโจร บัวบก พริก ไพล เป็นต้น
ในบัญชียาจากสมุนไพรนี้ได้ระบุข้อบ่งใช้ของฟ้าทะลายโจรว่า
ใช้รักษาอาการท้องเสียไม่ติดเชื้อ รักษาอาการเจ็บคอ (pharyngotonsillitis) บรรเทาอาการของโรคหวัด (common cold) เช่น เจ็บคอ อ่อนเพลีย
ปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ น้ำมูกไหล เป็นต้น
รูปแบบและความแรง แคปซูล /ยาเม็ด/ ยาลูกกลอน
ที่บรรจุผงฟ้าทะลายโจรอบแห้ง 250,
300 และ 350 มก.
ขนาดและวิธีใช้: (รักษาอาการท้องเสียไม่ติดเชื้อ)
ครั้งละ 0.5-2 กรัม วันละ 4 ครั้ง
หลังอาหารและก่อนนอน ใช้รักษาไม่เกิน 2 วัน, (รักษาอาการเจ็บคอ) วันละ 3 – 6 กรัม แบ่งให้วันละ 4
ครั้ง หลังอาหารและก่อนนอน ใช้รักษาไม่เกิน 7 วัน
นอกจากนี้ในปัจจุบันยังมีการนำสมุนไพรฟ้าทะลายโจรมาใช้ในอุตสาหกรรมการเลี้ยงสัตว์
โดยเฉพาะสัตว์ปีก เช่น การเลี้ยงไก่ เป็นต้น เนื่องจากการเลี้ยงไก่ส่วนใหญ่จะมีการใช้ยาปฏิชีวนะเป็นปริมาณมาก
ซึ่งจะทำให้มีการตกค้างของสารเหล่านี้ในเนื้อไก่ได้
และอาจจะทำให้มีผลกระทบต่อผู้บริโภค ตลอดจนการส่งออกเนื้อไก่ของประเทศไทย
ดังนั้นจึงได้มีการนำสมุนไพรมาใช้ทดแทนการใช้ยาปฏิชีวนะเหล่านี้ โดยได้มีการนำฟ้าทะลายโจร
ซึ่งมีสรรพคุณแก้เจ็บคอ ลดไข้ แก้ท้องเสีย ไปผสมร่วมกับสมุนไพรอื่นๆ เช่น ไพล
ให้ไก่กิน เพื่อป้องกันและรักษาโรคในระบบทางเดินหายใจและทางเดินอาหาร
ทำให้มีอัตราการสูญเสียจากไก่ป่วยและตายลดลง สาโรชและคณะ (2547)18 ได้รายงานว่า ไก่เนื้อที่เลี้ยงด้วยอาหารเสริมฟ้าทะลายโจรขนาด 0.05-0.1%
ของอาหาร จนถึงอายุ 6 สัปดาห์
ไก่จะมีน้ำหนักตัวเทียบได้กับกลุ่มเสริมยาปฏิชีวนะ
แต่จะมีประสิทธิภาพการใช้อาหารสูงกว่า และในไก่ไข่ ไก่ที่ได้รับฟ้าทะลายโจรผง 0.05-0.1%
ของอาหาร ก็มีแนวโน้มผลิตไข่ดกกว่าและไข่มีคุณภาพภายในดีกว่ากลุ่มควบคุม
จะเห็นได้ว่าสมุนไพรฟ้าทะลายโจรให้ผลที่ดีในสัตว์เช่นเดียวกับการใช้ยาปฏิชีวนะ
จึงน่าที่จะนำมาใช้ทดแทนยาปฏิชีวนะได้
เพื่อลดการใช้ยาปฏิชีวนะในอุตสาหกรรมและปัญหาการตกค้างของยาในเนื้อสัตว์ด้วย
นอกจากนี้ยังสามารถช่วยลดค่าใช้จ่ายในการเลี้ยงสัตว์ได้ เนื่องจากสมุนไพรที่ใช้มีความเป็นพิษต่ำ
ราคาถูก และหาได้ง่ายเพราะสามารถปลูกได้เองในประเทศ
แต่อย่างไรก็ตามควรจะมีการศึกษาถึงสารสำคัญของฟ้าทะลายโจรที่อาจตกค้างในเนื้อสัตว์และอาจมีผลต่อผู้บริโภคได้
และยังต้องศึกษาถึงการยอมรับของผู้บริโภคในแง่ของกลิ่นและรสชาติของเนื้อสัตว์ที่อาจจะแตกต่างออกไปด้วย
บทสรุป
สมุนไพรฟ้าทะลายโจรเป็นสมุนไพรที่มีฤทธิ์ทางเภสัชวิทยาที่หลากหลาย
ขึ้นอยู่กับสารสำคัญแต่ละชนิดที่มีอยู่ในสมุนไพร
ปัจจุบันมีผลิตภัณฑ์ฟ้าทะลายโจรทั้งในรูปแบบของผงแห้งบรรจุแคปซูล ลูกกลอน ยาเม็ด
รวมไปถึงการเตรียมให้อยู่ในรูปสารสกัดฟ้าทะลายโจร
เนื่องจากมีความแปรปรวนของปริมาณสารสำคัญในผลิตภัณฑ์แตกต่างกันออกไป
จึงทำให้ผลิตภัณฑ์เหล่านี้มีฤทธิ์ไม่เท่ากันเมื่อใช้ในขนาดของยาที่เท่ากัน
ดังนั้นจึงมีความจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องมีวิธีการควบคุมคุณภาพของผลิตภัณฑ์ฟ้าทะลายโจรเหล่านี้อย่างเหมาะสม
ซึ่งวิธีการนี้จะต้องสามารถหารูปแบบของสารสำคัญที่มีอยู่ในผลิตภัณฑ์ได้แน่นอนเพื่อให้มั่นใจว่า
เมื่อนำผลิตภัณฑ์เหล่านี้กลับมาใช้อีก
จะยังให้ฤทธิ์ในการรักษาในทุกๆครั้งเหมือนเช่นเดิม
และไม่มีอาการข้างเคียงที่ไม่พึงประสงค์จากการใช้สมุนไพรนี้
ประโยชน์ของฟ้าทะลายโจร
สำหรับประโยชน์ของสมุนไพรฟ้าทะลายโจรนั้นจัดว่ามีอย่างมากมายเลยทีเดียว ที่สำคัญช่วยในการรักษาโรคต่างๆ ได้อย่างมีประสิทธิภาพ ไปดูกันดีกว่าว่าประโยชน์ของฟ้าทะลายโจรนั้นจะส่งผลดีต่อการรักษาโรคต่างๆ และต่อร่างกายอย่างไรบ้าง
1.ช่วยรักษาโรคหวัด
ตามตำรับแพทย์แผนไทยนั้นได้มีการใช้ฟ้าทะลายโจรรักษาโรคไข้หวัดมาตั้งแต่อดีตแล้ว เพราะในฟ้าทะลายโจรมีสารสำคัญทางพฤกษศาสตร์อยู่หลายชนิด เช่น สารไดเทอร์ปีนแลคโตน สารฟลาโวนอยด์ และสารประกอบอื่นๆ นอกจากนี้ยังเชื่อกันว่าฟ้าทะลายโจรสามารถกระตุ้นระบบภูมิคุ้มกันของร่างกายให้สามารถทำงานได้ดีขึ้น
2.มีส่วนช่วยรักษาโรคไข้หวัดใหญ่
อย่างที่ทราบกันดีว่าสมุนไพรฟ้าทะลายโจรนั้นมีสรรพคุณช่วยในการกระตุ้นระบบภูมิคุ้มกันของร่างกายให้สามารถทำงานได้ดียิ่งขึ้น ดังนั้นจึงเป็นไปได้ค่อนข้างสูงว่าจะมีประสิทธิภาพในการรักษาโรคไข้หวัดใหญ่ได้ด้วยเช่นกัน
3.รักษาโรคลำไส้อักเสบ
เนื่องจากสมุนไพรฟ้าทะลายโจร มีคุณสมบัติช่วยในการยับยั้งการหลั่งของสารที่ก่อให้เกิดอาการอักเสบภายในร่างกาย ช่วยในการต่อต้านอนุมูลอิสระ และการแข็งตัวของเลือด นอกจากนี้ยังพบว่าสารสกัดจากฟ้าทะลายโจรมีส่วนช่วยในการป้องกันการเกิดโรคลำไส้อักเสบจากการทดลองในสัตว์อีกด้วย ที่สำคัญฟ้าทะลายโจรยังถูกบรรจุเป็นยาสมุนไพรในบัญชียาหลักแห่งชาติของกระทรวงสาธารณสุข ในกลุ่มอาการของระบบทางเดินอาหารและทางเดินหายใจ ดังนั้นจึงมักนำฟ้าทะลายโจรมาใช้ประโยชน์ในการบรรเทาและรักษาโรคลำไส้อักเสบ
4.ลดอาการเจ็บคอจากต่อมทอนซิลอักเสบ
สมุนไพรฟ้าทะลายโจรมีสรรพคุณทางยาช่วยในการระงับอาการอักเสบและช่วยต้านเชื้อ เนื่องจากต่อมทอนซิลอักเสบนั้นเป็นอาการอักเสบของต่อมทอนซิลจากการติดเชื้อในช่องคอ ดังนั้นการใช้สมุนไพรฟ้าทะลายโจรจึงสามารถรักษาอาการดังกล่าวได้เป็นอย่างดี ทั้งนี้ผู้ป่วยบางรายนิยมทานฟ้าทะลายโจรตามความเชื่อของสูตรยาแผนโบราณในการรักษาอาการเจ็บคอซึ่งมีสาเหตุมาจากต่อมทอนซิลอักเสบนั่นเอง
5.รักษาโรคข้อรูมาตอยด์
เนื่องจากโรคข้อรูมาตอยด์เป็นโรคเรื้อรังชนิดหนึ่งที่เกิดการอักเสบตามข้อและส่วนอื่นๆ ของร่างกาย อีกทั้งฟ้าทะลายโจรยังเป็นสมุนไพรที่มีฤทธิ์ในการต้านการอักเสบ โดยเฉพาะสารแอนโดรกราโฟไลด์ที่มีอยู่ในสมุนไพรชนิดนี้ ถูกนำมาใช้เป็นการรักษาทางเลือก ไม่ว่าจะเป็นโรคภูมิต้านทานตนเองหรือโรคแพ้ภูมิตนเอง
6.แก้อาการท้องเสีย ท้องเดิน และอาหารเป็นพิษ
ในกลุ่มผู้ที่มีอาการท้องเสีย ท้องเดิน อาหารเป็นพิษ หรือเป็นบิดมีไข้ สามารถใช้ฟ้าทะลายโจรทั้งต้นรักษาได้ โดยเริ่มจากการนำทั้ง 5 ส่วนของสมุนไพรฟ้าทะลายโจรไปผึ่งลมให้แห้ง จากนั้นหั่นเป็นชิ้นเล็กๆ นำมาต้มกับน้ำประมาณ 1 กำมือแล้วดื่มตลอดวัน วิธีนี้จะช่วยให้ฟ้าทะลายโจรเข้าไปขับเอาสารพิษในลำไส้ออก ช่วยลดการระคายเคืองต่อผนังของลำไส้ ช่วยลดการเคลื่อนไหวของลำไส้ สามารถทำให้ระบบขับถ่ายทำงานได้เป็นปกติ
7.ช่วยรักษาไข้ไทฟอยด์
การทานสมุนไพรฟ้าทะลายโจรแบบแคปซูล 2 เม็ด 3 เวลาก่อนอาหาร โดยทานเป็นเวลา 3 สัปดาห์ จะทำให้ฟ้าทะลายโจรไปทำลายเชื้อไทฟอยด์ที่มีการฝังตัวอยู่ในเนื้อเยื่อของต่อมน้ำเหลือง ฝังตัวอยู่ในผนังลำไส้เล็ก ซึ่งลำไส้ที่เป็นอัมพาตอยู่แต่เดิมก็จะสามารถเริ่มทำงาน อีกทั้งยังช่วยเร่งให้ตับสร้างน้ำดี และช่วยย่อยอาหารได้เป็นอย่างดีอีกด้วย ที่สำคัญหลังจากทานสมุนไพรฟ้าทะลายโจรแล้วควรกินยาบำรุง เพื่อช่วยฟื้นฟูกำลังของผู้ป่วยให้แข็งแรงเหมือนเดิม
8.รักษาโรคงูสวัด
สำหรับผู้ป่วยที่เป็นโรคงูสวัดควรทานสมุนไพรฟ้าทะลายโจรประมาณ 2-3 เม็ดก่อนอาหาร ทานวันละ 3 เวลา เป็นเวลา 3 สัปดาห์ติดต่อกัน ซึ่งเพราะงูสวัดเป็นเชื้อไวรัสชนิดหนึ่งที่อยู่นานถึง 3 สัปดาห์ ดังนั้นหากทานสมุนไพรชนิดนี้ครบตามเวลาที่กำหนด ก็จะไม่ทำให้งูสวัดกลับมาเป็นอีก แต่ในส่วนของตุ่มและแผลพุพองนั้น ให้ใช้ว่านนาคราช ยาเสลดพังพอน หรือใบจักรนารายณ์ตำใส่เข้าไปในสุราแล้วนำมาทาหรือพอกไว้
9.รักษาแผลจากโรคเบาหวาน
ในส่วนของการรักษาแผลที่เกิดจากการเป็นโรคเบาหวานนั้น สามารถใช้สมุนไพรฟ้าทะลายโจรรักษาแผลอักเสบได้ เนื่องจากสมุนไพรชนิดนี้จะช่วยทำให้ระดับน้ำตาลในเลือดลดลง ซึ่งผู้ป่วยสามารถนำมาทาหรือกินก็ได้ตามแต่สะดวก
10.ช่วยรักษาริดสีดวงทวาร
สำหรับผู้ป่วยที่เป็นโรคริดสีดวงทวารให้ทานสมุนไพรฟ้าทะลายโจรครั้งละ 2-3 เม็ดก่อนอาหารทั้ง 3 เวลา รวมทั้งทานก่อนเข้านอน ซึ่งการทานสมุนไพรชนิดนี้จะช่วยให้อาการเลือดออกหรือปวดถ่วงค่อยๆ หายไป นอกจากนี้ยังช่วยให้ผู้ป่วยสามารถขับถ่ายได้สะดวกขึ้นกว่าเดิมจนเป็นปกติ
ข้อควรระวังในการใช้ฟ้าทะลายโจร
1.ไม่ควรใช้ฟ้าทะลายโจรติดต่อกันเกิน 7 วัน เนื่องจากฟ้าทะลายโจรมีฤทธิ์ที่ค่อนข้างแรง อาจทำให้เกิดการปวดท้อง ท้องเสีย กล้ามเนื้ออ่อนแรง วิงเวียนศีรษะได้ แต่ทางที่ดีหากกินติดต่อกันเกิน 3 วันแล้วไม่ดีขึ้น ก็ควรหยุดกินแล้วรีบไปพบแพทย์เพื่อวินิจฉัยหาสาเหตุที่แท้จริงของโรคต่อไป ในกรณีที่มีความจำเป็นจะต้องทานต่อเนื่องเกิน 7 วันจริง ๆ ควรทานคู่กับน้ำขิงเพื่อลดการเกิดผลข้างเคียงดังกล่าว (น้ำขิงมีฤทธิ์ร้อน จึงช่วยให้ร่างกายอบอุ่นได้)
2.ไม่ควรนำฟ้าทะลายโจรมาใช้กับผู้ที่มีปัญหาเรื่องความดันโลหิตต่ำ เนื่องจากฟ้าทะลายโจรก็มีสรรพคุณในการลดความดันโลหิตลง หากฝืนใช้ หรือใช้โดยรู้เท่าไม่ถึงการณ์ อาจรู้สึกหน้ามืดคล้ายจะเป็นลม หรือรู้สึกมึนงงสับสน ถ้าเกิดอาการเหล่านี้ขึ้น ควรหยุดใช้ทันทีแล้วอาการจะค่อย ๆ ดีขึ้นเองภายใน 3-4 ชั่วโมง เนื่องจากฟ้าทะลายโจรไม่มีการตกค้างในร่างกาย
3.ฟ้าทะลายโจรมีฤทธิ์ "เย็น" จึงเหมาะสำหรับผู้ป่วยที่เป็นโรคไข้ที่มีฤทธิ์ "ร้อน" ถ้าหากว่าผู้ป่วยเป็นหวัดที่เกิดจากฤทธิ์ "เย็น" (เช่น มีอาการหนาวข้างในร่างกาย เป็นไข้แบบไม่มีเหงื่อ) แล้วใช้ฟ้าทะลายโจร อาจทำให้มีอาการรุนแรงมากขึ้นกว่าเดิม
4.ฟ้าทะลายโจรมีผลข้างเคียงรุนแรง ควรสังเกตอาการผู้ทานอยู่เสมอว่ามีความผิดปกติหรือไม่ เพราะในรายที่มีการแพ้ฟ้าทะลายโจรมาก อาจมีอาการเริ่มต้นตั้งแต่ ผื่นขึ้น หน้าบวม ตัวบวม หายใจไม่ออก ถึงขั้นเสียชีวิตได้ทันที
5.สตรีที่อยู่ในช่วงตั้งครรภ์ และอยู่ในช่วงให้นมบุตร ไม่ควรกินฟ้าทะลายโจรในช่วงนี้ เนื่องจากอาจส่งผลกระทบต่อเด็ก และทำให้เกิดความผิดปกติได้
ไข้หวัด (Common Cold)
คือ
โรคที่เกิดจากการติดเชื้อไวรัสบริเวณทางเดินหายใจส่วนต้น เช่น จมูก คอ ไซนัส และกล่องเสียง โดยเชื้อที่ก่อให้เกิดไข้หวัดมักเป็นเชื้อไวรัสชนิดไม่รุนแรง และสามารถหายได้ภายใน 1-2 สัปดาห์
การรักษาไข้หวัดทำได้ด้วยการใช้ยา ควบคู่กับการนอนพักผ่อน และดื่มน้ำมาก ๆ
อาการของไข้หวัด
อาการของไข้หวัดจะเริ่มขึ้นเมื่อผู้ป่วยได้รับเชื้อไวรัสที่เป็นสาเหตุของไข้หวัด
เมื่อผู้ป่วยติดเชื้อไข้หวัด จะมีอาการดังต่อไปนี้
1. เจ็บคอ
2. น้ำมูกไหล
3. คัดจมูกหายใจได้ไม่สะดวกเนื่องจากจมูกบวม และมีน้ำมูกอุดตันภายในจมูก
4. ไอและจาม
5. เสียงแหบ
6. อ่อนเพลีย และรู้สึกไม่สบายตัว
นอกจากนี้ ในบางกรณีผู้ป่วยอาจมีอาการอื่น ๆ ที่สืบเนื่องมากจากไข้หวัด เช่น
1. ไข้สูง 37-39 องศาเซลเซียส
2. ปวดศีรษะ หรือปวดหู
3. ปวดหู หากมีอาการปวดมาก ๆ
อาจเป็นสัญญาณของการติดเชื้อที่หู
4. ปวดกล้ามเนื้อ
5. สูญเสียการรับรู้รสชาติและกลิ่น
6. มีอาการระคายเคืองที่ดวงตา หรือมีตาแดง
ขี้ตาแฉะร่วมด้วย
7. รู้สึกถึงแรงดันภายในหู และบริเวณใบหน้า
เมื่อเริ่มมีอาการไข้หวัด ความรุนแรงของอาการจะมีมากในช่วง 2-3 วันแรก
ก่อนจะค่อย ๆ ทุเลาลง ทั้งนี้โรคไข้หวัดมักมีอาการประมาณ 7-14 วัน โดยในผู้ใหญ่และเด็กโตจะมีอาการประมาณ 7-10 วัน
ส่วนเด็กที่มีอายุต่ำกว่า 5 ปี จะมีอาการประมาณ 10-14
วัน
แม้อาการจะดีขึ้นแล้วแต่ผู้ป่วยอาจมีอาการไอหลงเหลืออยู่ต่อไปอีกประมาณ 2 สัปดาห์ ก่อนที่จะหายเป็นปกติ
ในระหว่างที่ป่วยเป็นไข้หวัด
ผู้ป่วยหรือผู้ดูแลควรติดตามอาการอย่างใกล้ชิด
และควรรีบไปพบแพทย์ทันทีหากมีอาการดังต่อไปนี้
ผู้ใหญ่
1. ไข้สูงเกินกว่า 38.5 องศาเซลเซียส ติดต่อกันเกิน 5 วันขึ้นไป
2. กลับมามีไข้ซ้ำหลังจากอาการไข้หายแล้ว
3. หายใจหอบเหนื่อย และหายใจมีเสียงหวีด
4. เจ็บคออย่างรุนแรง ปวดศีรษะ หรือมีอาการปวดบริเวณไซนัส
เด็ก
1. มีไข้สูงกว่า 38 องศาเซลเซียส ในเด็กแรกเกิด-12 สัปดาห์
2. มีอาการไข้สูงต่อเนื่องกันมากกว่า 2 วัน
3. อาการต่าง ๆ ของไข้หวัดรุนแรงมากขึ้น
หรือรักษาแล้วอาการไม่ดีขึ้น
4. มีอาการปวดหัว หรือไออย่างรุนแรง
5. หายใจมีเสียงหวีด
6. เด็กมีอาการงอแงอย่างรุนแรง
7. ง่วงนอนมากผิดปกติ
8. ความอยากอาหารลดลง ไม่ยอมรับประทานอาหาร
ทั้งนี้อาการไข้หวัดและไข้หวัดใหญ่ จะค่อนข้างคล้ายกัน
อาจสับสนได้ แต่ผู้ป่วยและผู้ดูแลสามารถสังเกตความแตกต่างได้โดยหากเป็นไข้หวัดใหญ่
อาการจะเกิดอย่างรุนเร็ว และมีอาการหลัก ๆ คือ ไข้สูง ปวดศีรษะ และปวดกล้ามเนื้อ
อีกทั้งจะรู้สึกไม่สบายตัวจนไม่สามารถทำกิจวัตรประจำวันได้ตามปกติ
แต่อาการไข้หวัดทั่วไปจะไม่รุนแรง และยังคงทำกิจกรรมต่าง ๆ ได้ตามปกติ
แต่จะมีอาการที่เห็นได้ชัดคือไอ และมีน้ำมูก เป็นต้น
สาเหตุของไข้หวัด
ไข้หวัดมีสาเหตุมาจากการติดเชื้อไวรัส
ซึ่งเชื้อไวรัสที่ก่อให้เกิดไข้หวัดมีหลากหลายชนิด
แต่ที่พบได้บ่อยที่สุดคือเชื้อไรโนไวรัส (Rhinoviruses) ซึ่งเชื้อไวรัสชนิดนี้จะกระตุ้นให้อาการของผู้ป่วยหอบหืดกำเริบได้
และเกี่ยวข้องกับการติดเชื้อที่หูได้
ทั้งนี้เชื้อไวรัสไรโนไวรัสเข้าสู่ร่างกายได้ผ่านทางปาก
ตา จมูก อีกทั้งยังแพร่กระจายในอากาศได้
ติดต่อกันได้ในกรณีที่มีการสัมผัสกับผู้ป่วยไข้หวัด หรือใช้ของใช้ต่าง ๆ
ร่วมกับผู้ป่วย และไม่ล้างมือก่อนนำมือไปจับที่บริเวณตา ปาก และจมูก
ซึ่งอาจเป็นสาเหตุให้เกิดการติดเชื้อได้ นอกจากนี้
ผู้ที่มีปัจจัยเสี่ยงดังต่อไปนี้ มักเป็นไข้หวัดได้ง่ายกว่าคนทั่วไป ได้แก่
1. อายุ เด็กที่อายุน้อยกว่า 6 ปี
มีความเสี่ยงป่วยด้วยไข้หวัดสูง โดยเฉพาะเด็กที่ต้องอยู่ในสถานรับเลี้ยงเด็ก หรือเนอสเซอรี่
2. ภูมิคุ้มกันอ่อนแอ ผู้ป่วยที่มีอาการป่วยเรื้อรัง
หรือมีภาวะสุขภาพที่ทำให้ระบบภูมิคุ้มกันอ่อนแอมีแนวโน้มที่จะป่วยด้วยไข้หวัดได้ง่ายกว่าปกติ
3. ช่วงเวลา โดยส่วนใหญ่แล้วไม่ว่าจะเด็ก
หรือผู้ใหญ่มักจะเป็นไข้หวัดได้ง่ายในช่วงฤดูฝน และหรือฤดูหนาว
4. สูบบุหรี่ ผู้ที่สูบบุหรี่มีแนวโน้มจะป่วยด้วยไข้หวัดได้ง่าย
และหากเป็นก็จะอาการรุนแรงกว่าปกติอีกด้วย
5. อยู่ในที่ที่ผู้คนพลุกพล่าน สถานที่ที่มีคนพลุกพล่าน
ทำให้เสี่ยงต่อการติดเชื้อไวรัสโรคไข้หวัดได้ง่าย
การวินิจฉัยไข้หวัด
ส่วนใหญ่แล้วผู้ป่วยสามารถวินิจฉัยโรคไข้หวัดได้เองจากอาการที่เกิด
แต่หากผู้ป่วยไม่แน่ใจว่าเป็นอาการไข้หวัดหรือไม่ก็ควรไปพบแพทย์ โดยแพทย์จะซักประวัติเกี่ยวกับอาการที่เป็น
และตรวจร่างกาย หากเป็นอาการของไข้หวัดธรรมดา ก็จะไม่มีการตรวจเพิ่มเติม
แต่หากแพทย์สงสัยว่าน่าจะเป็นการติดเชื้อที่ระบบทางเดินหายใจมากกว่าไข้หวัด
แพทย์อาจสั่งตรวจด้วยวิธีการเอกซเรย์ และตรวจด้วยวิธีการของห้องปฏิบัติการ เช่น การตรวจน้ำมูก หรือการตรวจเลือด เพื่อช่วยในการวินิจฉัยยืนยันผลต่อไป
การรักษาไข้หวัด
ไข้หวัดเป็นโรคที่ไม่มีวิธีรักษาได้โดยตรง
แต่บรรเทาอาการของไข้หวัดลงได้ด้วยวิธีต่อไปนี้
1. พักผ่อนมาก ๆ การนอนหลับจะช่วยให้อาการของไข้หวัดดีขึ้นได้
อีกทั้งยังหลีกเลี่ยงการทำกิจกรรมหนัก ๆ
เพราะอาจทำให้ผู้ป่วยยิ่งอ่อนเพลียมากกว่าเดิม
2. ดื่มน้ำให้เพียงพอ ผู้ป่วยไข้หวัดนั้นมักจะสูญเสียน้ำจากเหงื่อที่เกิดขึ้นจากไข้
และน้ำมูกที่มากพร้อมกับอาการคัดจมูก
การดื่มน้ำให้มากขึ้นจะทำให้ผู้ป่วยรู้สึกสดชื่นได้
3. รับประทานอาหารที่มีประโยชน์ อาหารที่มีประโยชน์จะช่วยสร้างเสริมระบบภูมิคุ้มกัน
และช่วยให้ผู้ป่วยฟื้นฟูจากอาการเจ็บป่วยได้เร็วยิ่งขึ้น
นอกจากนี้
การใช้ยาเพื่อรักษาไข้หวัดเป็นอีกหนึ่งวิธีที่ช่วยให้อาการป่วยหายได้เร็วขึ้น
โดยยาใช้รักษาไข้หวัด ได้แก่
4. ยาแก้ปวดลดไข้ ใช้เพื่อบรรเทาอาการปวดเมื่อยและลดไข้
โดยยาที่นิยมใช้ได้แก่ ยาพารา และยาไอบรูเฟน
5. ยาแก้คัดจมูก (Decongestants) ช่วยบรรเทาอาการคัดจมูก
ทำให้หายใจได้สะดวกมากขึ้น
6. ยาลดน้ำมูก เป็นยาที่ใช้ร่วมกับยาแก้ปวดและยาแก้คัดจมูก
ช่วยให้ไข้หวัดหายได้เร็วยิ่งขึ้น
7. ยาแก้ไอ คือยาที่ใช้เพื่อบรรเทาอาการไอมีเสมหะ
ซึ่งจะช่วยให้เสมหะนิ่มลงและขับออกได้ง่ายขึ้น
ในรายที่มีอาการไอหรืออาการเจ็บคอร่วมด้วย
บรรเทาอาการได้ด้วยการอมยาอมแก้เจ็บคอ หรือสเปรย์พ่นเพื่อช่วยให้ชุ่มคอมากขึ้น และลดอาการเจ็บคอลงได้
ภาวะแทรกซ้อนจากไข้หวัด
แม้ว่าไข้หวัดจะหายได้เอง
แต่โรคนี้อาจเป็นปัจจัยทำให้เกิดการติดเชื้อแบคทีเรีย หรือเกิดการแพร่กระจายของเชื้อไข้หวัดไปยังอวัยวะใกล้เคียงจนกลายเป็นภาวะแทรกซ้อนได้ ภาวะแทรกซ้อนที่มักพบได้บ่อย
คือ
1. การติดเชื้อที่หูชั้นกลาง (Otitis Media) เกิดขึ้นจากการที่เชื้อแบคทีเรียหรือเชื้อไวรัสแพร่กระจายเข้าไปที่ด้านหลังของแก้วหู
ทำให้เกิดการติดเชื้อภายในหูชั้นกลาง โดยอาการที่สังเกตได้ชัดเจนคือ อาการปวดหู
บางกรณีอาจมีหนองสีเหลือง หรือสีเขียวไหลออกมาจากหู
อีกทั้งยังอาจทำให้เกิดอาการไข้ได้อีกด้วย หากปล่อยไว้จะทำให้แก้วหูทะลุได้
2. โรคหอบหืด หรือการโรคปอดอุดกั้นเรื้อรัง ในผู้ป่วยที่เป็นโรคหอบหืด
หรือปอดอุดกั้นเรื้อรัง ไข้หวัดอาจไปกระตุ้นให้อาการกำเริบได้โดยสัญญาณที่สามารถเห็นได้หากเกิดอาการกำเริบคือ ภาวะหายใจหอบเหนื่อย และหายใจมีเสียงหวีด
3. ไซนัสอักเสบ (Acute Sinusitis) เชื้อไวรัส
หรือเชื้อแบคทีเรียที่ทำให้เกิดไข้หวัด อาจเข้าไปภายในโพรงไซนัส
และก่อให้เกิดอาการติดเชื้อภายในจนกลายเป็นไซนัสอักเสบได้
4. คออักเสบ หากเชื้อไวรัสหรือแบคทีเรียจากไข้หวัดแพร่กระจายเข้าไปภายในลำคอ
จะทำให้เกิดอาการคออักเสบ ซึ่งนำมาสู่อาการเจ็บคอและไอ
5. หลอดลมอักเสบ หากเชื้อไวรัสซึ่งเป็นสาเหตุของไข้หวัดแพร่กระจายลงมาที่หลอดลมอาจทำให้เกิดภาวะหลอดลมอักเสบได้
อาการที่เห็นได้ชัดคือ มีอาการไอมากขึ้น และมักไอเป็นชุด ๆ
6. ปอดบวม เป็นภาวะแทรกซ้อนที่อาจเกิดขึ้นได้ในผู้ป่วยไข้หวัด มีสาเหตุมาจากเชื้อไวรัสแพรกระจายลงไปยังระบบทางเดินหายใจส่วนล่าง ซึ่งหากไม่รีบรักษาจะทำให้ผู้ป่วยมีอาการรุนแรงมากขึ้นจนเป็นอันตรายได้
การป้องกันไข้หวัด
ไข้หวัดเป็นโรคที่ติดต่อกันได้ง่าย
แต่ป้องกันได้โดยหลีกเลี่ยงการสัมผัสกับสารคัดหลั่งของผู้ป่วย และควรหลีกเลี่ยงการอยู่ใกล้ชิดกับผู้ป่วย
เนื่องจากเชื้อไวรัสติดต่อผ่านทางการหายใจได้ นอกจากนี้
ยังควรหมั่นล้างมือด้วยสบู่บ่อย ๆ หากต้องหยิบจับสิ่งของที่ใช้ร่วมกับผู้อื่น
และไม่ควรใช้มือสัมผัสกับปาก จมูก และตาโดยที่ไม่ได้ล้างมือก่อน
เพราะอาจทำให้เชื้อเข้าสู่ร่างกายได้ขณะที่ผู้ป่วยควรระมัดระวังตัวเองให้มากขึ้น
โดยใช้หน้ากากอนามัยเพื่อป้องกันการแพร่กระจายของเชื้อ และปิดปากเวลาที่ไอหรือจาม
หมั่นล้างมือบ่อย ๆ หลังจากไอ จาม หรือสั่งน้ำมูก
หลีกเลี่ยงการใช้ของร่วมกับผู้อื่น ไม่เข้าไปอยู่ในสถานที่ที่มีคนมาก หรือหากเป็นไปได้ควรหยุดพักอยู่บ้านเมื่อเป็นไข้หวัดจนกว่าอาการจะดีขึ้น
แหล่งที่มา
POBPAD. (2559).
ความหมาย ไข้หวัด. ค้นเมื่อวันที่ 14 สิงหาคม 2561,
จาก https://www.pobpad.com/ไข้หวัด
https://www.honestdocs.co/the-benefits-of-the-kariyat
https://medthai.com/%E0%B8%9F%E0%B9%89%E0%B8%B2%E0%B8%97%E0%B8%B0%E0%B8%A5%E0%B8%B2%E0%B8%A2%E0%B9%82%E0%B8%88%E0%B8%A3/
https://www.nanagarden.com/product/143535
https://www.caherbal.com/10%E0%B8%AA%E0%B8%A1%E0%B8%B8%E0%B8%99%E0%B9%84%E0%B8%9E%E0%B8%A3%E0%B8%95%E0%B9%89%E0%B8%B2%E0%B8%99%E0%B8%A1%E0%B8%B0%E0%B9%80%E0%B8%A3%E0%B9%87%E0%B8%87/
https://kiattikoon107.wordpress.com/2016/01/24/%E0%B8%9F%E0%B9%89%E0%B8%B2%E0%B8%97%E0%B8%B0%E0%B8%A5%E0%B8%B2%E0%B8%A2%E0%B9%82%E0%B8%88%E0%B8%A3/
http://www.qsbg.org/Database/Botanic_Book%20full%20option/search_detail.asp?botanic_id=2512